หน้าหลัก > ข่าวสาร > สมอ.ลุยปรับ 24 มาตรฐานเหล็กจากทั่วไป เป็นบังคับตีกันจีน

ข่าวสาร

พาณิชย์เรียกเก็บ AD ท่อเหล็กกล้าไร้สนิมในอัตราร้อยละ 2.38-310.74
 
ราชกิจจานุเบกษา
สมอ.ลุยปรับ 24 มาตรฐานเหล็กจากทั่วไป เป็นบังคับตีกันจีน
 
สมอ.ลุยปรับ 24 มาตรฐานเหล็กจากทั่วไป เป็นบังคับตีกันจีน

นายธวัช ผลความดี เลขาธิการ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ในปี 2559 สมอ.มีนโยบายปรับมาตรฐานเหล็กใหม่ทั้งหมด 24 มาตรฐาน ซึ่งมีทั้งมาตรฐานบังคับ และมาตรฐานทั่วไป (ไม่รวม มอก.20-24) ครอบคลุม 24 สินค้า ตามที่ 7 สมาคมผู้ประกอบการเหล็ก ได้เคยเข้าพบนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และต้องการให้ภาครัฐหามาตรการมาช่วยเหลืออุตสาหกรรมเหล็กทั้งระยะสั้นและระยะกลาง หลังถูกดัมพ์ราคาจากการนำเข้าเหล็กจากประเทศจีน

สาระหลักที่จะปรับแก้มาตรฐาน 24 มอก.จะแบ่งออกเป็นมาตรฐานบังคับ 12 มอก. มีนโยบายจะปรับแก้ไขให้สอดคล้องกับประเภทของเหล็กที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน

มาตรฐานทั่วไป 9 มอก.ทั่วไปจะเปลี่ยนเป็นมาตรฐานบังคับ ส่วนมาตรฐานอีก 3 

มอก. เป็นมาตรฐานแบบสมัครใจ ซึ่งทั้งหมดจะต้องพิจารณาที่เหตุผลและการใช้งาน  รวมถึงผลกระทบว่าจะกำหนดให้เป็นมาตรฐานทั่วไปหรือต้องปรับให้เป็นมาตรฐานบังคับ โดยในจำนวน 24 มอก.นี้จะมี 6 มอก. ที่ทางสถาบันเหล็กจะขอเป็นผู้จัดทำร่างมาตรฐานเองเพื่อให้ตรงกับความต้องการ และลดปัญหาการคัดค้านหรือกำหนดกรอบที่ไม่ตรงกับความต้องการของเอกชน และปกป้องการนำเข้า ซึ่ง 6 มอก.นี้เป็นตัวเร่งด่วนที่ต้องการให้ปรับแก้ ส่วนที่เหลืออีก 18 มอก. คือส่วนที่ถูกกำหนดในแผน สมอ.อยู่แล้ว
 

ที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐพยายามช่วยคือ การใช้มาตรการระยะสั้น โดยใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Antidumping : AD) ที่ทางกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ดำเนินการ ขณะที่ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้ใช้มาตรการระยะกลางโดยเร่งออกมาตรฐาน 24 มอก.โดยเร็ว ซึ่งนางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มอบให้ สมอ.จัดตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดวาระการประชุมหารือและแนวทางออกร่วมกันระหว่างรัฐ เอกชน และกรมศุลกากร โดยล่าสุดได้ประชุมไปเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ถึงความต้องการของเอกชน ซึ่งรับทราบในเบื้องต้นว่าเอกชนเสนอให้รัฐปรับขั้นตอนการพิจารณาร่างประกาศมาตรฐานเหล็กให้เร็วขึ้น แก้กฎหมาย รวมไปถึงการกำหนดมาตรฐานเหล็กตัวใหม่ที่มีความเป็นห่วงว่าจะได้รับผลกระทบจากการดัมพ์ราคาของเหล็กจีน
 

"การปรับมาตรฐานต่าง ๆ ส่วนใหญ่เป็นนโยบายที่ สมอ.กำหนดไว้ในแผนอยู่แล้ว ส่วนที่ต้องทำเร่งด่วนเพิ่มขึ้นหลังจากได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เนื่องจากไม่ต้องการให้อุตสาหกรรมเหล็กได้รับผลกระทบ เราต้องปรับมาตรฐานใหม่หลัก ๆ เพราะมาตรฐานบางตัวใช้มานานเกือบ 30 ปี หรือตั้งแต่ปี 2532 จึงจำเป็นต้องปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากที่สุด และทาง 7 สมาคมอยากให้รัฐเร่งช่วยเหลือหลาย ๆ มาตรการ การปรับมาตรฐานใหม่จึงเป็นส่วนหนึ่ง"
 

ทั้งนี้ สมาคมเหล็กต้องการให้กำหนดกรอบระยะเวลาในการประกาศ มอก. ซึ่งทาง สมอ.เองยอมรับว่ามีปัญหาบุคลากรที่ยังไม่สามารถสนับสนุนงานบางอย่างให้เร็วได้ หากทางสมาคมจะส่งผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วย หรือจะดึงสถาบันเหล็กเข้ามาช่วยด้วยก็ยินดี เพราะจะทำให้งานเร็วขึ้น เป็นบทบาทหน้าที่ที่ร่วมกันบูรณาการ 

ซึ่งทางเอกชนจะได้รู้ว่ารัฐไม่นิ่งเฉยกับการเร่งรัดมาตรการต่าง ๆ ทั้งการอำนวยความสะดวก ลดขั้นตอน รวมถึงปรับพิกัดศุลกากร เพราะเป้าหมายคือ คุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค"

นางสลักษณ์ พิสุทธิพัทธยา นักวิชาการมาตรฐานชำนาญการ สำนักงาน สมอ. กล่าวว่า สำหรับมาตรฐานทั้ง 24 ตัว คาดว่าจะเสร็จภายในปีนี้ โดยตามกระบวนการจะใช้ระยะเวลา 3-5 เดือน ประกอบด้วย 7 ขั้นตอน ได้แก่ 1.พิจารณารายชื่อมาตรฐาน 2.ขั้นตอนจัดทำร่างคือ จัดทำร่างมาตรฐาน ประชุม กว.21 และ กว.90 พิจารณาร่าง 3.ขั้นตอนพิจารณาร่างคือ เวียนร่างมาตรฐาน ประชุม กว.21 และ กว.90 พิจารณาข้อคิดเห็น เสนอ กว. รายสาขาที่ 1 และ 2 พิจารณาร่างมาตรฐาน จัดทำต้นฉบับร่างมาตรฐาน 4.ขั้นตอนประกาศมาตรฐาน เสนอ กมอ. ประกาศมาตรฐาน 5.ขั้นตอนการกำหนดมาตรฐาน กมอ.มีมติให้กำหนดเป็นมาตรฐานบังคับ 6.ขั้นตอนการพิจารณา รับฟังความคิดเห็น สรุปผลการรับฟังความคิดเห็น กรณีมีข้อคิดเห็นนำเสนอให้ กมอ.พิจารณา สรุปและจัดทำร่างพระราชกฤษฎีกา 7.ขั้นตอนการประกาศมาตรฐาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ความเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกา คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา สำนักงานกฤษฎีกาตรวจพิจารณา สำนักงานกฎหมายตรวจร่างพระราชกฤษฎีกาก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ และประกาศเป็นราชกิจจานุเบกษา

"มาตรฐานทุกตัวไม่ใช่แค่เหล็กเราทำออกมา เพื่อใช้เป็นตัวกำหนดคุณภาพของสินค้าที่คาดว่าจะมีผลกระทบกับผู้ใช้หรือประชาชน ด้วยความเป็นห่วงการใช้งาน เพราะหวั่นจะเกิดอันตรายจึงต้องบังคับ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็ไม่จำเป็นต้องกำหนดมาตรฐานบังคับเหล็กทั้งหมด ต้องดูปัจจัยหลายส่วนมาประกอบกัน เช่น มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม หรือต้องมีความปลอดภัยมากขนาดไหน หากมากต้องเป็นมาตรฐานบังคับ หากไม่มากเป็นเพียงมาตรฐานทั่วไป"

updated: 18 ก.พ. 2559 เวลา 11:00:27 น. ที4มา: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์